การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เมื่อเป็นทุกข์ต้องทำอย่างไร

สวัสดีครับ วันนี้ผมมี คติธรรมและข้อคิด เกี่ยวกับเรื่อง การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารัก เมื่อเป็นทุกข์แล้ว เราจะต้องทำอย่างไร มาฝากครับ


การพลัดพรากจากสิ่งที่เรารักนั้น เป็นทุกข์ และการพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่รัก ก็เป็นทุกข์ เช่นเดียวกัน ความรักนั้นเป็นความร้าย ความรักเป็นสิ่งทารุณ และเป็นเครื่องทำลายความสุขของปวงชน ทุกคนก็ต้องการ ความสมหวังในชีวิตรัก แต่ความรัก ไม่เคยให้ความสมหวังแก่ใคร ถึงครึ่งหนึ่ง แห่งความต้องการ ยิ่งความรัก ที่ฉาบทาด้วยความเสน่หาด้วยแล้ว ก็เป็นพิษแก่จิตใจ ทำให้ทุรนทุราย ดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น ความสุขที่เกิดจากความรักนั้น ก็เหมือนความสบายของคนป่วย ที่ได้กินของแสลง อย่าพอใจในความรัก เมื่อหัวใจยึดไว้ด้วยความรัก หัวใจนั้น จะสร้างความหวังขึ้นอย่างเจิดจ้า แต่ทุกครั้งที่เราหวัง ความผิดหวังก็จะรอเราอยู่ความทุกข์ที่เกิดขึ้น จากการพลัดพราก จากสิ่งอันเป็นที่รัก ที่พอใจนั้น เป็นเรื่องทรมานยิ่ง และเรื่องที่จะบังคับมิให้พลัดพราก ก็เป็นสิ่งสุดวิสัย เราทุกคน จะต้องพลัดพราก จากสิ่งอันเป็นที่รัก ที่พอใจ ไม่วันใด ก็วันหนึ่ง

เป็นการยาก ที่จะไม่มีความเศร้าโศกเสียใจ เมื่อพลัดพรากจากของที่รัก ทำไมเรา จึงมีความเศร้าโศกเสียใจ ก็เพราะเรา มีความติดข้องผูกพัน ในสิ่งอันเป็นที่รัก ถ้าเราไม่มีความติดข้องผูกพัน ก็จะไม่มีความเสียใจ ในการพลัดพรากจากสิ่งนั้น แล้วเราจะละคลาย หรือดับความติดข้องได้อย่างไร เราจะต้องมีความเข้าใจ ตามความเป็นจริงว่าทุกสิ่งที่เราติดข้องพอใจนั้น แท้จริงแล้ว ก็เป็นเพียงสภาพธรรม แต่ละอย่างที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว แต่ต้องด้วยปัญญา ที่เป็นขั้นภาวนาจริงๆ ไม่ใช่เพียงขั้นคิดนึกเท่านั้น จึงจะคลายความติดข้องไปได้บ้าง ดังนั้น การอบรมเจริญปัญญา ที่เริ่มจากการฟังธรรม หรือศึกษาธรรม ก็จะช่วยให้เราเข้าใจได้ ค่อยๆ สะสมความรู้ ความเข้าใจไปที่ละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่จะหวังเกินวิสัย ที่จะไม่เศร้าโศก ในสิ่งที่ติดข้องผูกพัน

ทุกสิ่งในโลกนี้ ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเริ่มต้นแล้ว ย่อมมีการสิ้นสุด ดังคำภาษิตที่ว่า มิมีงานเลี้ยงใด ที่ไม่เลิกรา ทุกคนที่เกิดมาแล้ว ก็เช่นกัน จะต้องการหรือไม่ต้องการ ก็ต้องพลัดพรากจากสิ่งของ หรือบุคคลที่รัก ที่ชอบใจเป็นธรรมดา ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยง หรือหน่วงเหนี่ยวสิ่งซึ่ง จะต้องเป็นไป มิให้เป็นไป ชีวิตนี้มีความพลัดพรากเป็นที่สุด เมื่อต้องพลัดพรากจากบุคคล หรือสิ่งอันเป็นที่รัก ความโศกก็จะเกิดขึ้น ยิ่งรักมากก็ยิ่งโศกมาก ความโศก ย่อมทิ่มแทงหัวใจ ของผู้ที่เศร้าโศก ดุจถูกลูกศรอาบยาพิษเจาะ และความโศกย่อมแผดเผาจิตใจ อย่างแรงกล้า ดุจหลาวเหล็ก ถูกไฟเผาผลาญอยู่ ผู้ที่ถูกความโศกครอบงำ ย่อมจะเสียใจร้องไห้น้ำตาไหล คร่ำครวญ รำพัน ร่ำไร บ่นเพ้อ จนคอ ริมฝีปาก และเพดานแห้งผาก ย่อมได้รับทุกข์อันสาหัส ทอดอาลัยในชีวิต ละทิ้งการงาน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ที่เศร้าโศก เสียใจจนเจ็บไข้ หรือเสียชีวิต หรือฆ่าตัวตายก็มี ที่เสียใจ จนเป็นบ้าไปก็มี ที่ซึมเศร้า หงอยเหงา จมอยู่กับความหลัง เหมือนคนไร้อนาคต หมดหวังในชีวิตก็มี การปล่อยให้ความโศก เข้าครอบงำ ย่อมทำให้เกิดโทษมากมายดังกล่าว เราจำเป็นต้อง ศึกษาหาวิธีการต่างๆ เพื่อระงับ หรือคลายความโศกลงบ้าง สำหรับ ชาวพุทธก็มีวิธี ระงับหรือคลายความโศก โดยนำคำสอน หรืออุบาย ที่พระพุทธเจ้า และพระสาวก ทรงใช้สอนเตือนสติ หรือปลอบใจ ผู้ที่ทุกข์โศก ให้หายทุกข์คลายโศกมาแล้ว มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ ดังนี้

ในอดีตกาล ณ กรุงสาวัตถี มีหญิงสาวที่ยากจนคนหนึ่ง ชื่อ กิสาโคตมี เมื่อนางได้สามี บิดามารดาและญาติสามีก็ดูหมิ่นว่า เป็นลูกสาวของสกุลเข็ญใจ ต่อมานางคลอดบุตรชายคนหนึ่ง จึงได้รับการยกย่อง จากบิดามารดา และญาติสามี แต่ลูกชายนางก็ตายเสีย ขณะที่วิ่งเล่นได้ นางจึงเป็นบ้า เพราะความเศร้าโศก อุ้มร่างลูกชายที่ตายแล้ว ตระเวนไปทั่วพระนคร ร้องขอยาสำหรับบุตรของตน ชายคนหนึ่ง ได้แนะนำให้นางไปขอยาจากพระศาสดา นางก็ไปขอ พระศาสดาจึงตรัสว่า จงนำเมล็ดผักกาดหยิบมือหนึ่ง มาจากเรือนที่ไม่เคยมีคนตาย นางดีใจมาก เข้าพระนคร ไปที่เรือนหลังแรก ถามว่า ถ้าในเรือนนี้ไม่เคย มีใครตาย โปรดให้เมล็ดผักกาดแก่ข้าด้วยเถิด และได้รับคำตอบว่า ใครเล่าจะสามารถนับคนที่ตายไปแล้ว ในเรือนหลังนี้ได้ นางไปเรือนหลังอื่นๆ จนถึงเย็น ก็ไม่ได้เมล็ดผักกาด นางจึงได้สติคิดว่า เราสำคัญว่าลูกชายของเราเท่านั้นที่ตาย ก็ในบ้านทุกหลัง คนที่ตายมากกว่าคนเป็น คิดแล้วก็สลดใจคลายความโศกลง จากนั้น ก็ออกไปนอกเมือง ทิ้งศพลูกชายไว้ที่ป่าช้าผีดิบ แล้วกล่าวว่า ความไม่เที่ยง มิได้เกิดกับชาวชนบท ชาวพระนคร หรือสกุลใดสกุลหนึ่งเท่านั้น หากเกิดกับชาวโลกทั้งหมด รวมทั้งเทวโลกด้วย แล้วนาง ก็กลับไปเฝ้าพระศาสดา พระองค์ตรัสถามว่า เธอได้เมล็ดผักกาด หยิบมือหนึ่งแล้วหรือ นางตอบปฏิเสธ พระศาสดาจึงตรัสว่า เธอเข้าใจว่า บุตรของเราเท่านั้นตาย ความตายเป็นธรรมยั่งยืนสำหรับสัตว์ทั้งหลาย แล้วตรัสว่า มฤตยูย่อมพาชนผู้มัวเมา ในบุตรและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจฟุ้งซ่านไป ในอารมณ์ต่างๆ ไปดุจห้วงน้ำใหญ่พัดพา ชาวบ้านผู้มัวหลับไหลไปฉะนั้น เมื่อจบพระดำรัส นางได้เป็นพระโสดาบัน ต่อมาก็บวชเป็นภิกษุณี นางกิสาโคตมี ถูกความโศกครอบงำอย่างหนัก หากพระพุทธเจ้าตรัสบอกนางว่า ไม่มียารักษาบุตรของนางที่ตายแล้ว นางก็คงไม่เชื่อ พระองค์จึงตรัสให้นางไปหาเมล็ดผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย เมื่อมีความหวังว่า จะได้ยามารักษาบุตร นางก็ดีใจ แต่เมื่อตระเวนไปตามบ้านต่างๆ จนได้รับทราบ ความเป็นจริงของชีวิต ก็สลดใจและฉุกคิดได้ว่า ทุกคน มีความตายเป็นธรรมดา ไม่ใช่บุตรของตนเท่านั้นที่ตาย เมื่อคิดได้อย่างนี้ ย่อมคลายความโศกลงได้



โลกนี้เป็นโลกของความทุกข์ เมื่อมีการเกิด ก็ต้องมีการแก่ การเจ็บ และการตาย สิ่งเหล่านี้ เราพอใจกันหรือ เปล่าเลย แต่ว่า แม้เราจะไม่พอใจ ก็จำต้องเป็นไป อยู่นั่นเอง เพราะเมื่อมีเกิด สิ่งเหล่านี้ก็ติดตามมา แล้วก็เป็นทุกข์ เพราะพยายามจะฝืน ธรรมดาของโลกเป็นเช่นนี้เอง สรรพสิ่งเปลี่ยนแปรอยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรคงอยู่ในสถานะเดิม สภาพเก่าสิ้นไป สภาพใหม่ก็มาแทน หากเมื่อวานยังคงอยู่ วันนี้จะมีได้หรือ ถ้าคน สัตว์เกิดมาแล้วไม่ตาย โลกวันนี้ ก็จะคับแคบแน่นขนัด และคงไม่เป็นสภาพที่น่าอยู่ คนที่อยู่ค้ำฟ้า คงจะแก่คร่ำคร่าน่าชัง วิถีทางธรรมชาติเป็นเช่นนี้ การเกิด แก่ เจ็บ และตายเป็นสิ่งถูกต้องแล้ว ความสุขในโลก เปรียบเหมือนความฝัน และของขอยืมเขามา ทรัพย์สมบัติ ข้าวของเงินทอง หมดทั้งสิ้นไม่ใช่ของเรา เป็นของกลางสำหรับแผ่นดิน ตายแล้ว ทิ้งหมด เอาไปไม่ได้ อย่าได้หลงมัวเมาไป แต่ความแก่ ความเจ็บ ความตายนี้ เป็นของเราแท้ๆ ที่เราหนีไม่พ้นโลกธรรม คือ ธรรมดาของโลกนี้ มีอยู่ ๘ ประการคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ สี่ข้อแรกน่าชื่นชมยินดี ทุกคนอยากมี อยากได้ สี่ข้อหลัง ไม่น่ายินดี ไม่มีใครปรารถนา แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น กล่าวคือเมื่อมีลาภ พอถึงคราว ลาภก็เสื่อม มียศแล้ว ก็มีเสื่อมยศ ดังนั้น ท่านจึงสอน มิให้มัวเมากับโลกธรรม ฝ่ายที่น่ายินดี และไม่ให้ทุกข์โศกเกินไป เมื่อถึงคราว คนเราเมื่อเกิดมา ก็มาแต่ตัวเปล่า มิได้มีผู้ใด นำเอาทรัพย์สิน หรือเครื่องประดับ สักชิ้นติดตัวมาเลย เมื่อยามจะตาย ทุกคนก็ต้องทิ้งสมบัติ ที่หามาด้วยความเหนื่อยยากไว้ เบื้องหลัง จะมีผู้ใด นำสมบัติแม้แต่ชิ้นเดียว ติดตัวไปก็ไม่มี เมื่อทรัพย์สมบัติทั้งหลาย มีภาวะความจริงเป็นอย่างนี้ บุคคล ก็ไม่ควรยึดมั่นว่า เป็นของตนแต่ผู้เดียว เขาควรคิดอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของโลก ส่วนที่อยู่ในความครอบครองของเขา เป็นเพียงการยืมมา ใช้ชั่วคราวเท่านั้น

เป็นยังไงบ้างครับคุณผู้ชม การพลัดพราก จากสิ่งที่เรารัก ทำให้เป็นทุกข์ และวิธีระงับความโศก พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้เรา พิจารณาเนืองๆ ไว้ ๕ ประการ ว่า
๑. เราจะต้องแก่เป็นธรรมดา จะไม่แก่ไม่ได้
๒. เราจะต้องเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะไม่เจ็บไข้ไม่ได้
๓. เราจะต้องตายเป็นธรรมดา จะไม่ตายไม่ได้
๔. เราจะต้องพลัดพราก จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น
๕. เรามีกรรมเป็นของเฉพาะตน เมื่อทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม เราจะต้องได้รับผลแห่งกรรมนั้น ครับ

ขออนุโมทนาบุญ และกราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ ทุกท่าน ที่ให้คติธรรม และข้อคิด ในการดำเนินชีวิต และขออนุโมทนาบุญ กับทุกท่านที่มีส่วนร่วม ในการจัดทำคลิบนี้ และรับชมคลิบนี้ สาธุครับ

ขอขอบคุณที่มา..http://www.stou.ac.th/study/sumrit/10-58(500)/page1-10-58(500).html

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

อาฆาตแรง ชอบด่าว่า สาปแช่งคนอื่น จะได้รับผลกรรมอะไร

กรรมของคน ชอบใส่ร้ายป้ายสี และนินทาผู้อื่น

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์ 3 ประการ

ผลกรรม ของมือที่สาม นอกใจคนรักของตน

การเบียดเบียนผู้อื่น จะนำทุกข์มาให้ตนเอง

พูดโกหก ชอบด่าว่า พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ กรรมหนักแค่ไหน

คำขอขมา และอธิษฐานจิต ถอนคำสัญญา คำสาบาน

เงินขาดมือ ชักหน้าไม่ถึงหลัง กรรมเกิดจากอะไร

เชื่อว่ากรรมไม่มี อันตรายอย่างยิ่ง